วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2550

การสอนให้รู้จักคิดอย่างมีวิจารณญาณเพื่อการป้องกันตัวจากศาสตร์มืด

กิตติพงษ์ วงศ์ทิพย์

เมื่อเห็นชื่อเรื่องบทความนี้แล้ว ผู้อ่านคงจะแปลกใจว่าผู้เขียนคิดอะไรอยู่ อ่านหนังสือเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์ ของ เจ เค โรวลิ่ง มากไปหรือเปล่า หรือเขียนบทความนี้หลังจากที่อ่านหนังสือเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์จบแล้วใช่ไหม
คำตอบก็คือ ไม่ใช่ ผู้เขียนไม่ได้บ้าหรือคลั่งไคล้แฮร์รี่ พอตเตอร์มากขนาดนั้น เพียงแต่เห็นว่าในปัจจุบันนี้มนุษย์เราก็ต้องต่อสู้กับศาสตร์มืดเช่นเดียวกับที่แฮร์รี่
พอตเตอร์ต้องผจญอยู่ ดังนั้นผู้เขียนจึงได้หยิบยืมชื่อการป้องกันตัวจากศาสตร์มืดมาใช้ในบทความนี้
ศาสตร์มืดที่ เจ เค โรวลิ่ง ได้กล่าวถึงในหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ คงจะหมายถึง เวทมนตร์คาถาที่พวกพ่อมดแม่มดฝ่ายของลอร์ดโวลเดอมอร์ หรือที่รู้จักกันว่า ผู้เสพความตาย ใช้ทำร้ายฝ่ายตรงข้าม ซึ่งก็จะมีอานุภาพแตกต่างกันไปในแต่ละคาถา แต่ศาสตร์มืดที่ผู้เขียนหมายถึงในบทความนี้ ผู้เขียนต้องการให้หมายถึง
ความชั่วร้าย เล่ห์เหลี่ยม เพทุบายของเหล่ามิจฉาชีพหรือผู้ที่มีจิตใจฝักใฝ่ไปในทางต่ำช้า ผู้ที่โดนกิเลสครอบงำจิตใจ ผู้ที่ต้องการจะทำร้ายผู้อื่น เห็นผู้อื่นดีกว่าตนเองไม่ได้ ซึ่งคนเหล่านี้มักจะมีอยู่ทั่วไปและพบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นเราจึงควรที่จะรู้ให้เท่าทันคนจำพวกนี้ เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่ออันโอชะของมัน
วิธีการป้องกันตัวจากสาสตร์ที่ได้กล่าวไว้ในหนังสือเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์ก็คือจะต้องเรียนเวทมนตร์คาถาต่าง ๆ ที่สามารถป้องกันคำสาปนั้น ๆ และต้องเรียนวิชาปรุงยาเพื่อจะได้ผลิตยารักษาตัวเองหลังจากที่โดนสาปด้วยคาถาจากศาสตร์มืด แต่ในความเป็นจริง เราทำอย่างนั้นไม่ได้ เราไม่มีเวทมนตร์คาถาที่จะป้องกันพวกมิจฉาชีพได้ แต่ทว่าเรามีอาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรงอยู่ในตัว ไม่ต้องสรรหาอาวุธชนิดอื่นหรือร่ำเรียนเวทมนตร์คาถาใด ๆ สิ่งนั้นก็คือ การคิด
การคิดจะทำให้เรารู้เท่าทันพวกมิจฉาชีพที่ชาญฉลาด เนื่องจากคนจำพวกนี้อาจจะมีทักษะหรือช่ำชองในการสื่อสารทั้งการพูดและการเขียน รู้จักใช้โวหาร เล่ห์เหลี่ยม เพทุบาย ทำให้ดูประหนึ่งว่าเป็นผู้มีคุณธรรม ซึ่งผู้ที่รู้ไม่เท่าทันอาจหลงเชื่อได้ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, ๒๕๔๘, หน้า ) ดังที่เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (๒๕๔๕, หน้า ๑ – ๒) ได้กล่าวว่า ความสามารถในการคิดทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์ ทำให้มนุษย์สามารถแก้ปัญหาให้กับตนเอง สามารถคิดสร้างสรรค์เครื่องทุนแรง สร้างสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ สามารถสร้างความสุขให้กับตนเอง และปกป้องตนเองให้พ้นจากภัยธรรมชาติได้ การคิดทำให้คนไม่ถูกหลอกด้วยการตีความหรือยอมรับการตีความข้อมูลอย่างผิด ๆ และไม่เชื่อถือสิ่งต่าง ๆ อย่างง่าย ๆ แต่จะวินิจฉัย ไตร่ตรอง และพิสูจน์ความจริงอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจเลือก นอกจากนี้ยังได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การเป็นคนที่เชื่อง่าย จะทำให้ถูกหลอกง่าย เพราะไม่คิดหรือคิดไม่เป็น มักเชื่อตามบุคคลที่น่าเชื่อถือ เช่น ผู้อาวุโส นักวิชาการ หนังสือพิมพ์ ฯลฯ หรือไม่ก็เชื่อตามโชคชะตา หรือคิดไปเองว่าใช่แน่ ๆ หลายครั้งจึงถูกหลอกทางความคิดอย่างง่าย ๆ เพราะไม่เรียนรู้ที่จะเสาะแสวงหาข้อเท็จจริงของสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเอง และไม่พยายามตั้งคำถามกับสิ่งที่ควรสงสัย ไม่ได้คิดวิเคราะห์และคิดเปรียบเทียบผลดีผลเสียอย่างรอบคอบ ขาดการคิดอย่างบูรณาการและการคิดเชิงอนาคตจึงทำให้คิดผิด
ความสำคัญของการคิดดังกล่าวข้างต้นล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดประโยชน์กับบุคคลที่รู้จักคิดหรือมีความคิดและคิดเป็น ซึ่งก็หมายความว่า จะต้องรู้จักใช้สติปัญญาพิจารณาไตร่ตรองอย่างละเอียดรอบคอบก่อนที่จะลงความเห็นหรือที่เรียกกันว่า คิดอย่างมีวิจารณญาณ นั่นเอง
การที่บุคคลจะคิดเป็นหรือคิดอย่างมีวิจารณญาณได้นั้น เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (๒๕๔๕, หน้า ๔ – ๕) ได้เสนอแนะว่าจะต้องมีความสามารถในการคิดให้ครบ ๑๐ มิติ ดังนี้
ประการแรก การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking) หมายถึง ความตั้งใจที่จะพิจารณาตัดสินเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยการไม่เห็นคล้อยตามข้อเสนออย่างง่ายๆ แต่ตั้งคำถามท้าทาย หรือโต้แย้งสมมติฐาน และข้อสมมติที่อยู่เบื้องหลัง และพยายามเปิดแนวทางความคิด ออกลู่ทางต่าง ๆ ที่แตกต่างจากข้อเสนอนั้น เพื่อให้สามารถได้คำตอบที่สมเหตุสมผลมากกว่าข้อเสนอเดิม
ประการที่สอง การคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical Thinking) หมายถึง การจำแนกแจกแจงองค์ประกอบต่าง ๆ ของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และหาความสัมพันธ์เชิงเหตุผล ระหว่างองค์ประกอบเหล่านั้น เพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของสิ่งที่เกิดขึ้น
ประการที่สาม การคิดเชิงสังเคราะห์ (Synthesis-Type Thinking) หมายถึง ความสามารถในการดึงองค์ประกอบต่าง ๆ มาผสมผสานเข้าด้วยกัน เพื่อให้ได้สิ่งใหม่ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ
ประการที่สี่ การคิดเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Thinking) หมายถึง การพิจารณาเทียบเคียงความเหมือน และ/หรือ ความแตกต่าง ระหว่างสิ่งนั้น กับสิ่งอื่น ๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ สามารถอธิบายเรื่องนั้นได้อย่างชัดเจน เพื่อประโยชน์ในการคิด การแก้ปัญหา หรือการหาทางเลือดเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
ประการที่ห้า การคิดเชิงมโนทัศน์ (Conceptual Thinking) หมายถึง ความสามารถในการประสานข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่เกี่ยวกับเรื่องหนึ่งเรื่องใดได้อย่างไม่ขัดแย้ง แล้วนำมาสร้างเป็นความคิดรวบยอดหรือกรอบความคิดเกี่ยวกับเรื่องนั้น
ประการที่หก การคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking) หมายถึง การขยายขอบเขตความคิดออกไปจากกรอบความคิดเดิมที่มีอยู่ สู่ความคิดใหม่ ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน เพื่อค้นหาคำตอบที่ดีที่สุด ให้กับปัญหาที่เกิดขึ้น
ประการที่เจ็ด การคิดเชิงประยุกต์ (Applicative Thinking) หมายถึง ความสามารถในการนำเอาสิ่งที่มีอยู่เดิม ไปปรับใช้ประโยชน์ในบริบทใหม่ได้อย่างเหมาะสม โดยยังคงหลักการของสิ่งเดิมไว้
ประการที่แปด การคิดเชิงกลยุทธ์ (Strategic Thinking) หมายถึง ความสามารถในการกำหนดแนวทางที่ดีที่สุดภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าหาแกนหลักได้อย่างเหมาะสม เพื่ออธิบาย หรือให้เหตุผลสนับสนุนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
ประการที่เก้า การคิดเชิงบูรณาการ (Integrative Thinking) หมายถึง ความสามารถในการเชื่อมโยงแนวคิดหรือองค์ประกอบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าหาแกนหลักได้อย่างเหมาะสม เพื่ออธิบาย หรือให้เหตุผลสนับสนุนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
ประการที่สิบ การคิดเชิงอนาคต (Futuristic Thinking) หมายถึง ความสามารถในการคาดการณ์สิ่งที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อย่างมีหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม
หากจะมองในแง่ของการศึกษาในสถาบันการศึกษาทั้งในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและระดับอุดมศึกษา
ผู้เขียนเห็นว่าการสอนให้นักเรียนหรือนักศึกษารู้จักคิดอย่างมีวิจารณญาณได้นั้น จะต้องสอนให้พวกเขามีทักษะการอ่านก่อน เพราะเมื่อพวกเขาอ่านอะไรสักอย่างหนึ่ง พวกเขาจะต้องใช้ความคิดในการแปลความและตีความถ้อยคำหรือข้อความในสื่อนั้น ๆ เพื่อจะได้เข้าใจเนื้อหา วัตถุประสงค์ และความคิดของผู้เขียนที่ต้องการสื่อสารผ่านงานเขียนชิ้นนั้น ๆ เพราะฉะนั้นการสอนให้นักเรียนหรือนักศึกษามีทักษะในการอ่าน คือ เข้าใจในสิ่งที่เห็นตามตัวอักษร ประเมินค่าหรือตัดสินใจว่าส่วนใดเป็นข้อเท็จจริง หรือความลำเอียงของ
ผู้แต่ง สามารถวิจารณ์โดยใช้ความคิดเห็นส่วนตัวที่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับผู้แต่ง โดยใช้ประสบการณ์ ความจริง หรือเหตุผลเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา (Smith, ๑๙๖๓ อ้างใน นริศรา หงษ์หนึ่ง, ๒๕๔๗, หน้า ๘) ย่อมจะทำให้นักเรียนหรือนักศึกษาสามารถคิดอย่างมีวิจารณญาณได้ ดังที่ สวลี ชนะปาลพันธุ์ (๒๕๓๖, หน้า ๑๘) ได้กล่าวไว้ว่า ผู้อ่านจะได้รับประโยชน์จากการอ่านอย่างมีวิจารณญาณมากที่สุด เพราะสามารถใช้ความคิดและประสบการณ์ของตนปรับปรุงตนเอง ทำให้เป็นคนมีความรู้ มีเหตุผล รอบคอบ มีมโนทัศน์กว้างในการตัดสินใจ วินิจฉัยข้อผิดถูกและแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ทันท่วงที รวมทั้งมีเจตคติที่ถูกต้อง
วิธีการที่จะสอนให้ผู้เรียนรู้จักอ่านอย่างมีวิจารณญาณนั้น สนิท ตั้งทวี (๒๕๒๙, หน้า ๓๑๘) ได้กล่าวไว้ว่า การอ่านอย่างมีวิจารณญาณมีเกณฑ์ในการพิจารณา คือ ขั้นแรกจะต้องพิจารณาความถูกต้องของภาษาที่อ่าน พิจารณาความต่อเนื่องของประโยคและความหมาย จากนั้นแยกข้อเท็จจริงออกจากความคิดเห็นและความรู้สึก โดยพิจารณาว่าอะไรเป็นข้อเท็จจริง อะไรเป็นข้อคิดเห็น รวมทั้งพิจารณาความสัมพันธ์ของหลักการและตัวอย่างที่นำมาประกอบว่ามีความจริงเพียงไร สมเหตุสมผลหรือไม่ และสุดท้ายคือประเมินข้อเท็จจริง ความคิดเห็น และความรู้สึก รวมทั้งวิเคราะห์ความคิดของผู้เขียนกับความคิดส่วนตัวของเราว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ สมควรที่จะเชื่อตามที่เขาเขียนหรือไม่
นอกจากนี้ อาร์เธอร์ (Arthur อ้างใน นงนุช วัฒนาเขจร, ๒๕๓๓, หน้า ๓๕) ได้กล่าวถึง ทักษะในการอ่านอย่างมีวิจารณญาณไว้ว่าจะต้องมีความสามารถดังต่อไปนี้
๑. จำความหมายของคำได้
๒. เลือกความหมายของคำในกรณีที่มีความหมายหลายอย่างได้อย่างเหมาะสม
๓. เข้าใจถ้อยคำความหมาย
๔. จับความคิดที่สำคัญของผู้เขียนได้
๕. รู้จุดหมาย ความคิดเห็น และความลำเอียงของผู้เขียนได้
๖. จับลักษณะการเขียนของผู้เขียนได้
๗. ลงความเห็นวินิจฉัยตัดสินใจ
๘. จับความรู้สึกที่ผู้เขียนต้องการแสดงออกได้
นอกจากนี้อาจจะใช้ลำดับขั้นความรู้ของบลูม (Bloom) มาประยุกต์ใช้กับการสอนอ่านอย่างมีวิจารณญาณได้ดังนี้ (สุนันทา มั่นเศรษฐวิทย์, ๒๕๓๙, หน้า ๙๕ – ๙๖)
ขั้นที่ ๑ จำ เป็นขั้นเริ่มแรกของการอ่านที่สมองจะต้องจำเรื่องราวให้ได้ จำความหมายของคำ ให้คำจำกัดความของคำยาก จำชื่อตัวละครและเหตุการณ์สำคัญ การที่ครูจะรู้ว่าผู้เรียนมีความจำเรื่องที่อ่านได้มากหรือน้อย ก็ใช้วิธีการตั้งคำถามเรื่องที่อ่าน หรือาจให้สะกดคำ บอกความหมายและบอกคำจำกัดความ
ขั้นที่ ๒ เข้าใจ เป็นขั้นที่ผู้เรียนสามารถเล่าเรื่องที่อ่านด้วยคำพูดของตนเองได้ เข้าใจความคิด ถ้อยคำ ประโยค และข้อความที่ให้คติสอนใจ สรุปเรื่องเป็นมโนทัศน์โดยใช้คำพูดของตน ดังนั้นการที่ครูจะประเมินว่าผู้เรียนมีความเข้าใจมากหรือน้อยควรตั้งเป็นคำถามด้วยการให้เล่าเรื่อง สรุปเรื่อง และเรียงลำดับเหตุการณ์ของเรื่อง
ขั้นที่ ๓ นำไปใช้ เป็นขั้นที่ผู้เรียนควรมีการฝึกนำถ้อยคำ ประโยค และเหตุการณ์ที่ได้จากการอ่านไปใช้แก้ปัญหาในสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นใหม่หรือนำไปใช้แก้ปัญหาในวิชาอื่น ๆดังนั้นคำถามที่ใช้จึงมักจะกำหนดสถานการณ์ให้นักเรียนพิจารณาในการนำความรู้มาใช้ประโยชน์
ขั้นที่ ๔ วิเคราะห์ เป็นขั้นที่ให้ผู้เรียนแยกองค์ประกอบย่อยของแนวคิดที่ได้จาการอ่าน การรู้จักแยกความหมายของคำที่มีความหมายหลายอย่าง สามารถบอกได้ว่าองค์ประกอบใดมีความสัมพันธ์กันหรือไม่เกี่ยวข้องกันเลย
ขั้นที่ ๕ สังเคราะห์ เป็นขั้นที่ให้ผู้เรียนรู้จักสรุปแนวคิดของเรื่อง ค้นหาลักษณะโครงเรื่องที่คล้ายคลึงกับเรื่องที่เคยอ่าน สุภาษิตหรือคำพังเพยที่มีความหมายเปรียบเทียบแล้วใกล้เคียงกัน อีกทั้งยังสามารถสรุปแนวคิดที่เหมือนกันและต่างกันได้ด้วย
ขั้นที่ ๖ ประเมินค่า เป็นขั้นสูงสุดของการคิดที่ให้ผู้เรียนรู้จักตัดสินใจเรื่องที่อ่านว่าอะไรคือส่วนที่เป็นจริง และอะไรคือส่วนที่เป็นเท็จ พิจารณาและค้นหาคุณค่าที่ปรากฏในเรื่อง และยังรวมไปถึงความเป็นเหตุเป็นผลด้วย เป็นการฝึกให้ผู้เรียนรู้จักสังเกตการใช้ถ้อยคำ การบรรยายที่ทำให้เกิดภาพพจน์ ตลอดจนความประทับใจอื่น ๆ ที่ได้จากการอ่านเรื่อง
จากที่กล่าวข้างต้นสามารถสรุปได้ว่า วิธีการสอนให้ผู้เรียนสามรถอ่านอย่างมีวิจารณญาณได้นั้น ผู้เรียนจะต้องรู้จักใช้ความคิดพิจารณาเกี่ยวกับภาษา ประโยค และเรื่องราวของสิ่งที่อ่านโดยอาศัยหลักความจริง เหตุผล ประสบการณ์ของผู้อ่าน เป็นส่วนประกอบในการพิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่เชื่อในความคิดของผู้เขียนเพียงประการเดียว รวมทั้งต้องสามารถวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินค่าสิ่งที่อ่านได้ด้วย
ผู้อ่านคงจะเห็นแล้วว่าขั้นตอนหรือวิธีสอนให้ผู้เรียนอ่านอย่างมีวิจารณญาณมีความสัมพันธ์กับการคิด เพราะการที่ผู้เรียนจะอ่านอย่างมีวิจารณญาณได้ ผู้เรียนจะต้องใช้ความคิดในการวิเคราะห์ สังเคราะห์ สิ่งที่อ่านเพื่อจะได้เข้าใจเรื่องราวและสิ่งที่เขียนต้องการแสดงออกให้ผู้อ่านได้ทราบ นอกจากนี้ผู้อ่านยังต้องใช้การคิดในการประเมินค่าสิ่งที่อ่านด้วยว่า สมควรเชื่อมากน้อยเพียงใด สิ่งที่อ่านมีประโยชน์กับตนเองหรือไม่อย่างไร เพราะฉะนั้นการคิดอย่างมีวิจารณญาณกับการอ่านอย่างมีวิจารณญาณจึงมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด
เมื่อการอ่านอย่างมีวิจารณญาณและการคิดอย่างมีวิจารณญาณมีความสัมพันธ์กันในลักษณะที่เอื้อประโยชน์แก่กันและกันเช่นนี้ เราจึงควรเร่งส่งเสริมและสอนให้ผู้เรียนรู้จักคิดอย่างมีวิจารณญาณโดยใช้การอ่านอย่างมีวิจารณญาณเป็นสื่อในการฝึกความคิด นี่คือหน้าที่ของผู้สอนในทุกระดับการศึกษาที่ควรกระทำ หากมองในแง่มุมของผู้เรียน ผู้เรียนก็จะต้องฝึกฝนตัวเองให้รู้จักคิดและอ่านอย่างมีวิจารณญาณเพื่อพัฒนาตนเองให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพ เป็นบุคคลที่มีความเข้มแข็งทางความคิด ไม่หวั่นไหวกับกระแสที่เหล่ามิจฉาชีพสร้างขึ้นมา หรือไม่ตกเป็นเครื่องมือของพวกมันทำความเดือดร้อนให้แก่สังคมและประเทศชาติ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศชาติล่มจมในที่สุด
ด้วยเหตุผลดังที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมด ผู้อ่านคงจะเห็นคุณประโยชน์ของการคิดอย่างมีวิจารณญาณแล้วว่า สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันตัวจากสาสตร์มืดได้เป็นอย่างดี แต่อานุภาพของเครื่องมือนี้จะรุนแรงหรือมีฤทธิ์เดชเพียงใด อยู่ที่การฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ ยิ่งมีความชำนาญในการคิด คือ สามารถคิดได้รวดเร็วเพียงใด ก็จะสามารถป้องกันตัวเองจากสาสตร์มืดได้มากเท่านั้น
ขออวยพรให้ผู้อ่านทุกท่านปลอดภัยจากการคุกคามของศาสตร์มืดและขอให้ศาสตร์มืดจงหมดไปจากโลกนี้ด้วยเทอญ

เอกสารอ้างอิง
เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (๒๕๔๕). การพัฒนาทักษะการคิด. (ออนไลน์). เข้าถึงได้จาก : http://www.idf.or.th/
นงนุช วัฒนาเขจร. (๒๕๓๓). ผลการทดลองใช้แบบฝึกสมรรถภาพการอ่านอย่างมีวิจารณญาณกับการสอนอ่านตามปกติที่มีต่อความสามารถในการอ่านและสมรรถภาพการอ่านอย่างเร็วของ
นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๒. วิทยานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร.
นริศรา หงษ์หนึ่ง. (๒๕๔๗). ความสามารถในการอ่านอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัยที่เรียนด้วยใช้วิธีสอนตามแนวทฤษฎีสร้างสรรค์ความรู้นิยม. วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สนิท ตั้งทวี. (๒๕๒๙). การใช้ภาษาเชิงปฏิบัติ. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์.
สวลี ชนะปาลพันธุ์. (๒๕๓๖). การใช้วรรณกรรมที่ชนะการประกวดพัฒนาการอ่านอย่างมีวิจารณญาณของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ โรงเรียนชำนาญสามัคคีวิทยา จังหวัดระยอง. วิทยานิพนธ์ศิลปะสาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน. (๒๕๔๘). ภาษาเพื่อพัฒนาการสื่อสาร. กรุงเทพฯ :
โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
สุนันทา มั่นเศรษฐวิทย์. (๒๕๓๙). หลักและวิธีสอนอ่านภาษาไทย. (พิมพ์ครั้งที่ ๒). กรุงเทพฯ : บริษัท
โรงพิมพ์ ไทยวัฒนาพานิช จำกัด.

1 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

Do you understand there's a 12 word phrase you can speak to your crush... that will induce deep feelings of love and impulsive attractiveness for you deep within his heart?

Because hidden in these 12 words is a "secret signal" that triggers a man's impulse to love, look after and look after you with his entire heart...

12 Words Will Trigger A Man's Desire Instinct

This impulse is so hardwired into a man's brain that it will drive him to try better than before to love and admire you.

Matter of fact, fueling this influential impulse is so important to getting the best possible relationship with your man that the instance you send your man one of these "Secret Signals"...

...You will instantly find him open his soul and heart to you in such a way he's never experienced before and he will recognize you as the one and only woman in the world who has ever truly appealed to him.