วันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2550

อย่างไรที่เรียกว่าสอน ?

กิตติพงษ์ วงศ์ทิพย์

“ไม่เห็นได้อะไรจากการเรียนในวันนี้เลย”
“สอนก็ไม่สอน สั่งให้แต่อ่านเอง”
“ทำไมครูไม่บอกหนูมาเลยละคะ ให้หนูคิดทำไม”
“ถามอะไรก็ไม่ตอบ บอกแต่ว่า คิดซิ คิดซิ”
คำถามและคำบ่นเหล่านี้ ผู้เขียนได้ยินอยู่เป็นประจำจากนักเรียนที่ผู้เขียนเคยสอนและกำลังสอนอยู่ บางครั้งผู้เขียนก็ยังแปลกใจและไม่แน่ใจเหมือนกันว่าสิ่งที่ผู้เขียนทำอยู่ถูกต้องแล้วหรือยัง ผู้เขียนปฏิบัติหน้าที่ของครูที่ดีแล้วหรือยัง ผู้เขียนดำเนินการไม่ครบตามกระบวนการหรือขั้นตอนของการสอนหรืออย่างไร หรือเป็นเพราะว่าทฤษฎีการสอนที่นักวิชาการต่าง ๆ ได้คิดค้นขึ้นใช้ไม่ได้กับการสอนที่เป็นอยู่จริง
บางครั้งผู้เขียนเองก็รู้สึกเบื่อที่จะต้องตอบคำถามดังกล่าวข้างต้นของนักเรียน จนถึงกับต้องตอบออกไปว่า “เธอลองไปอ่านหนังสือเกี่ยวกับการสอนดูนะว่าอย่างไรที่เรียกว่าสอน” หรือ “เธอลองกลับไปถามพ่อแม่เธอดูนะว่าอย่างนี้เรียกว่าสอนหรือเปล่า”
ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้บางคนอาจจะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ หรือเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่จะต้องแก้ปัญหาด้วยตนเอง แต่ผู้เขียนมีความเชื่ออย่างหนึ่งว่าคงจะไม่ใช่เพียงแค่ผู้เขียนคนเดียวเท่านั้นที่ต้องประสบปัญหาเช่นนี้ ครูคนอื่นในส่วนต่าง ๆ ของประเทศไทย ก็คงจะมีปัญหาเช่นเดียวกันกับผู้เขียนบ้างเหมือนกัน แม้ว่าจะมีเป็นเพียงส่วนน้อยก็ตาม เพราะฉะนั้นผู้เขียนจึงตั้งใจเขียนบทความนี้เพื่ออธิบายให้ทราบว่า การสอนคืออะไร และหน้าที่ของครูคืออะไร ตามที่ พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้ระบุไว้ ไม่ใช่การสอนและหน้าที่ของครูที่เคยปฏิบัติกันมาก่อนที่จะมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ และไม่ใช่เป็นข้อแก้ตัวของผู้เขียนหรือการยกตัวเองว่าเป็นผู้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เพียงแค่ต้องการจะเผยแพร่ข้อมูลที่ครูทุกคนรู้และปฏิบัติกันดีอยู่แล้วให้แก่ผู้ที่ยังไม่ทราบเท่านั้นเอง เพื่อทุกฝ่าย ทั้งผู้ปกครอง ครู และนักเรียนจะได้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 22 ได้กำหนดแนวทางในการจัดการศึกษาไว้ว่า จะต้องยึดหลักที่ว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ ฉะนั้นครูผู้สอนจะต้องเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้ชี้นำ ผู้ถ่ายทอดความรู้ ไปเป็นผู้ช่วยเหลือ ส่งเสริม สนับสนุนผู้เรียนในการแสวงหาความรู้จากสื่อและแหล่งการเรียนรู้ต่าง ๆ และให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ผู้เรียน เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้สร้างสรรค์ความรู้ของตน เนื่องจากในสภาพปัจจุบันมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารที่สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ทั่วโลกในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้มีข้อมูลข่าวสารอยู่ในระบบเป็นจำนวนมหาศาลต่อวัน ดังนั้นครูยุคใหม่จึงไม่สามารถที่จะถ่ายทอดวิชาความรู้หรือข้อมูลได้หมด เพราะข้อมูลความรู้ทั้งหลายมีมากมายมหาศาลยิ่ง ด้วยเหตุผลดังกล่าวครูยุคใหม่จึงต้องแนะนำให้นักเรียนมีความรู้เกี่ยวกับการค้นคว้า การเก็บ การวิเคราะห์ และการใช้ข้อมูล ไม่ใช่การบอกหรือป้อนข้อมูลเหมือนแม่นกที่คอยป้อนอาหารให้แก่ลูกนก ดังที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ว่า ธรรมะที่พระองค์ทรงค้นพบมีจำนวนมากมายเทียบได้กับจำนวนใบไม้ทั้งป่า แต่ธรรมะเท่าที่พระองค์สามารถนำมาอบรมสั่งสอนได้เทียบกับใบไม้กำมือเดียวเท่านั้น ซึ่งก็หมายความว่า ใครที่ต้องการรู้หลักธรรมของพระพุทธองค์ก็ต้องแสวงหาศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองจึงจะรับรู้ได้มากกว่า เช่นเดียวกับการเรียนการสอนที่มีองค์ความรู้อยู่มากมายมหาศาล ไม่มีโอกาสหรือสถานการณ์ใด ๆ ที่จะอบรมสั่งสอนได้จนครบถ้วนในเวลาใดเวลาหนึ่งเท่านั้น
นอกจากนี้สุภาษิตจีนยังกล่าวไว้อีกว่า ให้ปลา 1 ตัว ฉันกินหมดใน 1 วัน ให้ปลา 2 ตัว ฉันกินหมดใน 2 วัน ให้ปลา 3 ตัว ฉันกินหมดใน 3 วัน ไม่ให้ปลา ฉันอด หมายความว่า ถ้าให้กินปลาโดยไม่สอนวิธีจับปลา เมื่อวันใดวันหนึ่งไม่ให้ปลาแก่เขา เขาก็จะไม่ได้กินปลา เนื่องจากไม่สามารถหาปลากินเองได้ เช่นเดียวกับการสอนโดยครูเป็นผู้ให้ความรู้ตลอดเวลา ไม่ได้พัฒนาให้นักเรียนรู้จักวิธีการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ณ วันหนึ่งที่ครูไม่ได้สอนหรือเขาออกจากโรงเรียนไป เขาก็ไม่สามารถแสวงหาความรู้ด้วยตนเองได้ ความรู้เขาก็หยุดอยู่เพียงเท่านั้น และเขาก็จะกลายเป็นคนที่ล้าหลังคนอื่น ๆ เพราะความรู้เขาหยุดอยู่เพียงแค่ที่ครูสอนหรือครูบอก แต่เมื่อเวลาผ่านไปความรู้ใหม่ ๆ ได้เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ความรู้ที่เขามีอยู่อาจจะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไปแล้วเนื่องจากมีการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม เพราะฉะนั้นผู้ที่จะเป็นคนเก่งในอนาคตไม่ใช่คนที่รู้หรือจำข้อมูลได้เป็นจำนวนมากแต่เป็นคนที่รู้ว่าสถานการณ์ใดต้องใช้ข้อมูลอะไรและจะไปหาข้อมูลมาจากที่ไหนต่างหาก
จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นอาจสรุปได้ว่า การสอนในปัจจุบัน คือ การที่ครูเป็นผู้เสนอแนะวิธีการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ แสวงหาคำตอบและสร้างความรู้ด้วยตนเองให้แก่นักเรียน บทบาทหน้าที่ของครูไม่ใช่เป็นผู้บอกความรู้ให้แก่นักเรียนเหมือนที่เคยกระทำกันมาในอดีต นั่นคือ การบอกให้นักเรียนบันทึกหรือจดจำเนื้อหาตามที่ครูบอกหรือเขียนให้บนกระดานอีกต่อไป แต่ครูจะต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนรู้วิธีการสืบค้นข้อมูลที่ต้องการและสอนวิธีการพิจารณาข้อมูลที่ได้มานั้นว่าถูกต้องและเชื่อถือได้มากน้อยเพียงไร
สำหรับรูปแบบการสอนนั้น พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้ระบุไว้ว่า ควรใช้รูปแบบวิธีการที่หลากหลาย เน้นการจัดการเรียนการสอนตามสภาพจริง การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้ร่วมกัน การเรียนรู้จากธรรมชาติ การเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง และการเรียนรู้แบบบูรณาการ ซึ่งก็หมายความว่า รูปแบบการสอนที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ก็คือรูปแบบการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ครูจะต้องให้นักเรียนมี ส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ อีกทั้งครูจะต้องพยายามให้นักเรียนสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองจากกิจกรรมที่ครูเป็นผู้วางแผนและจัดให้ โดยมีครูเป็นชี้แนะแนวทางเพื่อให้นักเรียนบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ครูได้กำหนดไว้ ซึ่งครูจะต้องพยายามใช้คำถามเพื่อนำนักเรียนไปสู่ข้อสรุปหรือสาระสำคัญในเรื่องที่เรียน ไม่ใช่ครูบอกทุกอย่างให้แก่นักเรียน
ในส่วนของวิธีการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญมีอยู่หลายวิธี เช่น วิธีสอนเป็นรายบุคคล วิธีสอนโดยใช้การเรียนรู้ด้วยการนำตนเอง วิธีสอนโดยการค้นคว้าอย่างอิสระ วิธีสอนโดยใช้บทเรียนโปรแกรม วิธีสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอน วิธีสอนแบบโครงงาน วิธีสอนแบบร่วมมือ วิธีสอนโดยใช้เกม วิธีสอนแบบมีส่วนร่วม วิธีสอนที่เน้นกระบวนการ ฯลฯ ซึ่งจะเห็นได้ว่าแต่ละวิธีนั้นล้วนแล้วแต่เน้นให้นักเรียนเป็นผู้ค้นพบคำตอบและเกิดความรู้ในเรื่องที่เรียนด้วยตนเองทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม อาจจะมีบางคนแย้งว่าเป็นไปไม่ได้ที่นักเรียนจะค้นพบคำตอบเองโดยที่ไม่มีใครบอก ซึ่งประเด็นนี้อาจจะอ้างข้อมูลจากพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 ได้ว่า ครูจะต้องอาศัยหลักการที่กล่าวว่า ผู้เรียนทุกคนมีศักยภาพในการเรียนรู้และสามารถพัฒนาตนเองได้ และการที่ครูจะทำให้นักเรียนมีศักยภาพในการเรียนรู้และสามารถพัฒนาตนเองได้นั้น ครูจะต้องอาศัยเทคนิควิธีสอนที่สามารถดึงศักยภาพที่ซ่อนอยู่ภายในตัวของนักเรียนแต่ละคนออกมา อีกทั้งการที่จะสอนให้นักเรียนคิดเป็นหรือรู้จักวิธีการคิด ครูก็ไม่จำเป็นต้องบอกทุกอย่างให้แก่นักเรียนเสมอไป ครูอาจจะใช้คำถามชี้นำเพื่อให้นักเรียนค้นพบคำตอบทีละขั้น จนนักเรียนสามารถสรุปสาระสำคัญในเรื่องที่เรียนนั้น ๆ ได้ หรือครูอาจจะยกตัวอย่างที่ใกล้เคียงกับเรื่องที่เรียน แล้วให้นักเรียนคิดเปรียบเทียบจนเกิดคำตอบเองได้ ซึ่งอาจจะดีกว่าการบอกของครู เพราะถ้าครูสอนให้นักเรียนรู้จักคิดหรือค้นหาคำตอบด้วยตนเอง เมื่อเขาไปเจอปัญหาหรือสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เหมือนหรือใกล้เคียงกับที่เคยเรียนมาแล้ว เขาก็จะสามารถประยุกต์ใช้ความรู้เดิมที่มีอยู่ในสถานการณ์หรือปัญหาใหม่ที่พวกเขาต้องประสบได้อยู่ตลอดเวลา
ด้วยเหตุผลหลาย ๆ ประการดังที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด คงจะทำให้นักเรียนและผู้ที่ยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับการเรียนการสอนในปัจจุบันทราบข้อมูลเบื้องต้นว่าเพราะเหตุใดครูจึงต้องปฏิบัติหรือสอนแตกต่างจากในอดีต ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้คงจะทำให้คำถามของนักเรียนที่ผู้เขียนเคยได้ยินจางหายไปบ้าง และหวังมากไปกว่านั้นว่า นักเรียนคงจะปฏิวัติรูปแบบการเรียนของตนเองใหม่ เพื่อจะได้พัฒนาตนเองให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ มีนิสัยใฝ่หาความรู้ รักที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต รวมทั้งรู้จักปรับตัวไปตามกระแสต่าง ๆ ในโลกซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เพื่อความสำเร็จในชีวิตของตนเอง และเพื่อพัฒนาประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรืองยิ่ง ๆ ขึ้นไป


เอกสารอ้างอิง

กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ. (2543). การปฏิรูปการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนสำคัญที่สุด : แนวทางสู่การปฏิบัติ. โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว : กรุงเทพฯ.
______________. (2545). หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544. (พิมพ์ครั้งที่ 2). โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) : กรุงเทพฯ.
______________. (2544.) คู่มือกลุ่มวิชาภาษาไทย. โรงพิมพ์การศาสนา กรมการศาสนา : กรุงเทพฯ.
กิตติพงษ์ วงศ์ทิพย์. (2545). “ทฤษฎีเกี่ยวกับการสอน”. เอกสารประกอบการบรรยายกระบวนวิชา 067712 การสอนวรรณกรรมไทย. วันที่ 16 พฤศจิกายน 2545 ณ อาคาร 3 คณะ ศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี. (มปป.) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545. บริษัท พริกหวานกราฟฟิค จำกัด : กรุงเทพฯ.
หน่วยศึกษานิเทศก์ กรมสามัญ กระทรวงศึกษาธิการ. (2544). ผู้เรียน : บุคคลแห่งการเรียนรู้. โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว : กรุงเทพฯ.
_______________. (2544). ครูมืออาชีพ. โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว : กรุงเทพฯ.

1 ความคิดเห็น:

vanniadahlstrom กล่าวว่า...

MGM Resorts to bring sports betting back to Colorado - JTM Hub
MGM Resorts International announced 과천 출장샵 Friday it has completed a sports wagering agreement 안동 출장안마 with 파주 출장안마 the 성남 출장마사지 state of Colorado. The deal, which will 경주 출장마사지